กฎหมายคู่ชีวิต “ของเพศทางเลือก” สิทธิ ความรัก และการยอมรับทางกฏหมาย

0
4118

 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนสนใจกันมาก แต่การจะเข้าใจกฎหมายมันก็ยากอยู่เหมือนกัน วันนี้ Dudeเลยขออนุญาตมาเล่าคร่าวๆ เป็นพื้นฐานกันก่อนว่า ประเทศอื่นๆ เขาดำเนินการทางกฎหมายในเรื่องนี้กันอย่างไรเผื่อจะเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคู่ชีวิตของประเทศไทยครับ

เหตุผลที่ในประเทศไทย…คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนกันไม่ได้

DudeAdam-gay-law106

            “กฎหมายคู่ชีวิต” เป็นเรื่องการยอมรับสถานะของคู่รักเพศเดียวกันในทางกฎหมาย คือ มีกฎหมายรองรับสถานะอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติในการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุใดๆ ซึ่งรวมถึงเพศและความเชื่อทางศาสนา แต่ทำไมคู่รักเพศเดียวกันในประเทศไทยถึงจดทะเบียนสมรสกันไม่ได้ล่ะ?

เหตุผลก็เพราะว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะครอบครัว มาตรา 1448 กำหนดว่า การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อ ‘ชายและหญิง’ มีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และมาตรา 1458 กำหนดว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชายหญิง’ ยินยอมเป็นสามีภริยากัน นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถจดทะเบียนสมรสร่วมกันได้ DudeAdam-gay-law104

รู้หรือไม่ว่า…กฎหมายคู่ชีวิตไม่ได้มีแบบเดียว?

กฎหมายคู่ชีวิตที่มีในหลายๆ ประเทศปัจจุบันจะสามารถแยกได้ 2 แบบ แบบแรกเป็นการทำเป็น “บันทึกคู่ชีวิต” และ “การจดทะเบียนสมรส” แล้วสองแบบนี้เป็นอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไร?

แบบที่ 1 การทำเป็นบันทึกคู่ชีวิต คือ มีกฎหมายให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันไปทำเป็นบันทึกการอยู่กินด้วยกันกับราชการ เจ้าหน้าที่ศาลหรือโนตารีพับลิค (บุคคลผู้ทำหน้าที่รับรองลายมือชื่อหรือรับรองเอกสาร)

แบบที่ 2 การจดทะเบียนสมรส คือ มีกฎหมายให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้

            เห็นความแตกต่างกันไหมเอ่ย แบบแรกเป็นเพียงการทำเป็นบันทึกเท่านั้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่จะยังไม่เทียบเท่ากับการจดทะเบียนสมรสของบุคคลต่างเพศ แต่ก็แสดงถึงการยอมรับของสังคมต่อคู่รักเพศเดียวกันได้ในระดับหนึ่ง

 DudeAdam-gay-law107

แล้วประเทศต่างๆ ใช้กฎหมายแบบไหนบ้าง?

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ออกกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ทั้งในรูปแบบการทำเป็นบันทึก หรือการจดทะเบียนสมรส เช่น ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สเปน แคนาดา แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ สวีเดน โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ อาร์เจนตินา เดนมาร์ก อุรุกวัย นิวซีแลนด์ ตองก้า เยอรมัน เป็นต้น เราลองมาดูกันหน่อยดีกว่า ว่าสถานการณ์กฎหมายของต่างประเทศนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายอนุญาตให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 แต่กว่าที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านก็มีการถกเถียงกันมายาวนานเหมือนกัน ทางฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน และการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันไม่ได้มีผลกระทบต่อการสมรสของบุคคลต่างเพศแต่อย่างใด ส่วนฝ่ายที่คัดค้านให้เหตุผลในเรื่องศาสนาที่มีมาอย่างยาวนานรองรับให้การสมรสเป็นเรื่องของชายและหญิงในการก่อสร้างครอบครัว มีลูกหลานสืบต่อไป มนุษย์ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

โดยก่อนหน้านี้ประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายชื่อว่า Pacs ให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันสามารถให้เจ้าหน้าที่ศาลหรือโนตารีพับลิคบันทึกข้อตกลงการอยู่กินด้วยกันได้ แต่สิทธิหน้าที่ยังไม่เท่าการจดทะเบียนสมรสของชายหญิง และอีก 14 ปีให้หลัง กฎหมายอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสถึงได้ประกาศใช้ เห็นมั้ยครับว่าในประเทศฝรั่งเศสก็ใช้ระยะเวลากว่า 14 ปีในการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิ

DudeAdam-gay-law103ในประเทศเยอรมันก็มีกฎหมายให้บันทึกการอยู่กินของบุคคลเพศเดียวกันได้ในปี 2544 แต่กฎหมายของเยอรมันจะแตกต่างกับฝรั่งเศสตรงที่ไม่อนุญาตให้บุคคลต่างเพศทำบันทึกนี้ได้ ในขณะที่ฝรั่งเศสอนุญาตให้บุคคลต่างเพศที่ไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสสามารถทำบันทึกแบบเดียวกันได้เช่นกันความแตกต่างนี้อาจทำให้มีการตั้งคำถามถึงการยอมรับความเท่าเทียมของคู่รักเพศเดียวกัน ในประเทศเยอรมันและจนถึงปัจจุบันประเทศเยอรมันยังไม่มีการกฎหมายอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้

สำหรับประเทศนอรเวย์นั้นใช้เวลาถึง 16 ปีในการเรียกร้องให้มีกฎหมายอนุญาตให้บุคคล ที่มีเพศเดียวกัน จดทะเบียนสมรสกันได้โดยก่อนหน้านั้นได้มีกฎหมายให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถบันทึกคู่ชีวิตได้ และมีหน่วยงานของรัฐเพื่อความเท่าเทียมกันของทุกเพศ ที่สำคัญในปี 2557 ได้มีกฎหมายคุ้มครองบุคคลในทุกอาชีพไม่ให้เลือกปฏิบัติต่อกันโดยเหตุทางเพศอีกด้วย DudeAdam-gay-law105

นอกยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเรียกร้องและพยายามให้มีการออกกฎหมายในเรื่องนี้ หลายประเทศกำลังเริ่มส่งสัญญาณอันดี บางประเทศใกล้จะประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดี รวมถึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปเพื่อทำความเข้าใจในทุกๆ ฝ่ายและเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

โดยส่วนตัว Dude คิดว่าสำหรับประเทศไทยอาจจะต้องใจเย็นกันสักหน่อย เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีอคติ และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุคคลกลุ่มเพศทางเลือก แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันที่กำลังพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ดังนั้นคงต้องให้เวลากับพวกเขาเหล่านั้นผ่านช่องทางต่างๆ อย่างไรก็ตามอยากจะฝากไว้ว่าเรื่องความรักนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนนอกจากจะพิจารณาด้วยเหตุผลทั้งปวงแล้วอย่าลืมใช้หัวใจเพิ่มเข้าไปในทุกๆ การตัดสินใจด้วย

 *อ้างอิงจากบทความ “ปกิณกะกฎหมาย การสมรสของบุคคลที่มีเพศเดียวกัน” และ “การสมรสของบุคคลที่มีเพศเดียวกัน(ภาคสอง)” ศาสตราจารย์ ดร. ไพโรจน์ กัมพูสิริ นบ. (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Doctoral de l’ Université de Paris, ศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้